ATPER2022: Theme Introduction

Living with Uncertainty

งานประชุมวิชาการแบบออนไลน์ ของสมาคมนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรปประจำปี 2565

ATPER Online Conference, Living with Uncertainty

20 – 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ATPER2022_v2 by ATPER

ความเป็นมา

เมื่อปีที่ผ่านมา ทางสมาคมนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรป (ATPER)  ได้จัดงานประชุมวิชาการในหัวข้อ “Living with COVID-19” ซึ่งวิทยากรรับเชิญและผู้ร่วมประชุมต่างก็ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และข้อเสนอแนะแนวทางการปรับตัวตามสถานการณ์โรคระบาดไปแล้วนั้น  

ในขณะที่ปัจจุบัน สถานการณ์ COVID-19 ได้ปรับสถานะดีขึ้นเรื่อยๆ และหลายๆ ประเทศ ก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติอีกครั้ง

แต่แล้ววิกฤติความขัดแย้งระหว่างประเทศ รัสเซีย-ยูเครน ก็เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้  และเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ที่ค้าขายกับประเทศรัสเซียมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน อีกทั้งประเทศรัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีที่มีสัดส่วนปริมาณการค้ามากที่สุดในโลก  ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรทั่วโลกมีราคาสูงขึ้น และมีผลต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะนี้ เราจึงสังเกตเห็นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆ ในยุโรป มากสุดในรอบหลายสิบปี ประชากรยุโรปจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยวิธีการต่างๆ กันไป เช่น เริ่มกักตุนอาหาร และลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ทางสหภาพยุโรป ได้เรียกร้องให้ประชากรหันมาประหยัดพลังงาน ในขณะดียวกัน นี่คือโอกาสที่ประเทศในยุโรป ต้องหันมาเร่งพัฒนาประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น (Self-Sufficiency) ทั้งในเรื่อง พลังงานทดแทน/ยั่งยืน, ระบบเศรษฐกิจการผลิต, การจัดหาอาหารและวัตถุดิบต่างๆ ภายในประเทศ

สมาชิกของสมาคมนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรป (ATPER) ที่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรป มีความตั้งใจระดมความคิดและพิจารณาหาคำตอบผ่านการแลกเปลี่ยนและร่วมแบ่งปันประสบการณ์, ความรู้ และข้อเสนอแนะที่ได้เรียนรู้และพัฒนาขึ้นมา เพื่อส่งต่อไปสู่คนไทยทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

ทางสมาคมฯ จึงสร้างพื้นที่รวบรวมประเด็นสถานการณ์และวิธีการปรับตัว จากผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้ในการแสวงหาทางออกร่วมกัน ผ่านงานประชุมวิชาการประจำปีนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถนำองค์ความรู้และแง่คิดที่ได้จากการถ่ายทอดจากสมาชิก และเครือข่ายของสมาคมฯ ไปใช้สร้างวิสัยทัศน์สำหรับชีวิตของตัวเองและองค์กรของผู้เข้าร่วมงานต่อไป

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

การจัดงานประชุมในครั้งนี้ นอกเหนือจากจะถ่ายทอดองค์ความรู้ ในหัวข้อที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับตัวจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนแล้ว กิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นเวทีส่งเสริมให้สมาชิก และเครือข่ายของนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรปได้มีโอกาสพบปะและพัฒนาเครือข่ายที่สร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาประเทศไทย

วัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้สามารถสรุปได้ ดังนี้

  1. สร้างเสริมและขยายชุมชนของสมาชิกสมาคมฯ และเครือข่ายที่อยู่ในภูมิภาคยุโรปและประเทศไทย
    Strengthen and expand ATPER’s community, partners and networks across the European region and in Thailand.
  2. เผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ระหว่างองค์กร, ภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย
    Share and transfer know-how, knowledge and experiences among Thai organisations in both the public and private sectors.
  3. สร้างโอกาสในการพัฒนาขอบเขตความร่วมมือในปัจจุบันระหว่างสมาชิกสมาคมฯ และองค์กรเครือข่าย รวมถึงริเริ่มโครงการความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างกัน
    Create an opportunity to elevate existing collaborations among members and with ATPER’s partner organisations, as well as to establish new ones.
  4. ประชาสัมพันธ์วิสัยทัศน์และกิจกรรมของสมาชิกสมาคมฯ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
    Promote our vision and activities of ATPER’s members.

การดำเนินกิจกรรม

สมาคมนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรปได้จัดการประชุมประจำปี 2565 ในรูปแบบออนไลน์ เหมือน การประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยสมาคมฯ จะสร้างเวทีให้สมาชิกที่กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคยุโรป ได้ใช้ความสามารถและความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในการสร้างสรรค์ และนำเสนอกิจกรรมในหลากหลายมิติ โดยรูปแบบกิจกรรมจะประกอบไปด้วยการประชุมเชิงวิชาการและการสัมมนา ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการอภิปราย แลกเปลี่ยนแนวคิด และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มกิจกรรม ดังต่อไปนี้

การประชุม ATPER 2022: Living with uncertainty (ATPER Online Conference 2022)  

  • การพัฒนาด้านพลังงาน (Energy Development)
  • นวัตกรรมทางธุรกิจ (Business Innovation)
  • การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)  และการพัฒนาการศึกษา (Education Development)
  • วิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Science) 

ประโยชน์ที่จะได้รับจากงานประชุม

  1. เปิดเวทีให้นักวิชาชีพและนักศึกษาไทยที่มีความรู้ความสามารถในสาขาต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป ได้มีโอกาสถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่ประเทศไทย
  2. นักวิชาชีพไทยในยุโรป, ผู้แทนของหน่วยงานในประเทศไทย และหน่วยงานไทยในยุโรปได้มีโอกาสร่วมมือและพัฒนาความคิดเพื่อหาทางออกจากวิกฤตินี้ได้
  3. สะท้อนสภาพปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ, สังคม และการพัฒนาของไทย รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา และร่วมเผยแพร่องค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในยุโรปสู่สังคมในวงกว้าง
  4. นำเสนอวิธีการปรับตัว และแลกเปลี่ยนแนวทางเตรียมความพร้อมของแต่ละประเทศ เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย
  5. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสร้างวิสัยทัศน์สำหรับชีวิตของตัวเอง และยังสามารถไปพัฒนาองค์กร เพื่อปรับตัวสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก
  6. เกิดความร่วมมือของสมาชิกและเครือข่ายของสมาคมฯ ในด้านการพัฒนาในหลากหลายมิติมากขึ้น นอกเหนือไปจากการวิจัยด้านวิชาการ