มุมมองของ ATPER ต่อการรับมือ COVID-19 ของยุโรป
จากสถานการณ์การกักตัวปัจจุบัน หลายๆคนคงจะทราบดีว่าเราว่าคนไทยที่อยู่ต่างแดนกลับบ้านกันลำบากมาก เพราะจำนวนเที่ยวบินไม่มากพอกับความต้องการ จำนวนเที่ยวบินที่จำกัดนั้นส่วนหนึ่งถูกจำกัดโดยจำนวนสถานที่กักตัว จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการกักตัวเป็นคอขวด ที่ทางรัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาแก้ไข วันนี้เราเลยจะลองนำมาตรการการเข้าประเทศของประเทศแถบยุโรปมาเล่าให้ฟังกัน เผื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอขวดนี้กัน
นโนบายของประเทศในยุโรปนั้นโดยภาพรวมแล้วมีข้อจำกัดเรื่องการกักตัวน้อย เพราะนโยบายต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดและสิทธิ์ที่ประชาชนมีอยู่เป็นหลัก โดยเฉพาะในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรปนั้น มีข้อกำหนดในสนธิสัญญาของสหภาพยุโรปที่ว่าประชากรในแต่ละประเทศสมาชิกสามารถเดินทางข้ามไปมาหากันเพื่อทำงานได้อย่างเสรี (Free Movement principle) จึงจะเห็นว่าประเทศในสหภาพยุโรปเกือบทั้งหมดนั้นอนุญาตให้ผู้มีสัญชาติหรือใบพำนักถาวร (permanent residence permit) ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว เช่น เบลเยียม, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน หรือกักตัวแบบสมัครใจ (Voluntary quarantine หรือ Self isolation) เช่น ฟินแลนด์, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย หลักการนี้ และนโยบายการคัดกรอง และควบคุมของยุโรปที่ต่างจากไทย ทำให้ปัญหาคอขวดเรื่องจำนวนที่กักตัวแบบที่ไทยไม่เกิดขึ้น แต่ก็อาจจะเป็นจุดที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดประเทศขึ้นอีกครั้ง
เมื่อเทียบกับไทย นโยบายที่ทางยุโรปใช้ มีดังนี้
แบ่งแยกประเทศกลุ่มเสี่ยงชัดเจนประเทศในสหภาพยุโรป มีการแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มที่อนุญาต (open) และประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ (banned) โดยทาง EU ได้เริ่มที่จะใช้มาตรฐานเดียวกันในการพิจารณาประเทศกลุ่มเสี่ยง ณ ปัจจุบัน พิจารณาโดยการใช้ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขี้นต่อประชากร 100,000 คน หากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เกิน 25 เคสต่อ ประชากร 100,000 คน (บางประเทศอาจยึดตัวเลขอื่น เช่น เดนมาร์กอยู่ที่ 30 เคส) จะถือว่า เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง และจะอัพเดทรายชื่อประเทศกลุ่มเสี่ยงทุก 2 อาทิตย์ ซึ่งก็หมายความว่า มาตราการป้องกันและนโยบายในการรับมือ ก็สามารถปรับและเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์เช่นกัน
เน้นการช่วยเหลือประชาชน และครอบครัวกลับบ้านทุกประเทศยังคงอนุญาตให้ประชากรและผู้มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศของตนและประเทศสมาชิกสามารถเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ต้องมีการกักตัว หรือต้องแสดงผลตรวจโควิดหากเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เว้นแต่จะมีข้อห้ามเฉพาะ เช่น หากผู้ที่ไม่ใช่ประชากรหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรในเดนมาร์กจะเดินทางเข้าประเทศ จะต้องมีเหตุผลจำเป็น อย่างทำงาน, เยี่ยมคู่สมรส, ร่วมงานศพ นอกไปจากนั้น หลายประเทศยังอนุญาตให้คู่สมรสและสมาชิกในครอบครัว เช่น บิดามารดา, บุตรธิดา ของผู้ถือสัญชาติ เดินทางเข้าประเทศ (โดยอาจต้องกักตัวในที่พักหากเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง) เช่น ฝรั่งเศส, สวีเดน, ออสเตรีย, เบลเยียม เป็นต้น
เน้นการกักตัวเองเป็นหลักการกักตัวของแต่ละประเทศในยุโรป ไม่มีทั้ง State Quarantine และ Alternative State Quarantine เช่นไทย เพียงแค่ให้กักตัวในที่พักให้ครบระยะเวลา 10 หรือ 14 วันตามกำหนด การกักตัวในยุโรปนี้ ผู้ที่กักตัวสามารถเดินทางไปสถานที่ที่จำเป็นได้ (Essential travel) เช่น ไปพบแพทย์, ซื้ออาหาร แต่ขอให้ไม่ใช้การเดินทางด้วยรถประจำทาง และเข้าใกล้ผู้อื่น (Social distancing)
คำนึงถึงความสมดุลระหว่างความเข้มงวดของนโยบายเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ การดำเนินชีวิตประจำวัน และเศรษฐกิจของประเทศแม้หลายประเทศในสหภาพยุโรปจะมีมาตรการที่คล้ายกันในหลายจุด แต่ก็มีบางประเทศ อย่างสวีเดนนั้น ที่ดำเนินนโยบายป้องกันโรคโควิดแตกต่างออกไปบ้าง ในช่วงที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มปิดพรมแดนประเทศ (ราวกลางเดือนมีนาคม) ประเทศสวีเดน ก็ยังคงเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาในประเทศ และไม่ปิดโรงเรียนหรือร้านอาหารอย่างเข้มงวดเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะรัฐธรรมนูญของประเทศ ระบุห้ามการจำกัดสิทธิ์ในการเคลื่อนย้ายและเดินทางของประชาชนในประเทศ และอำนาจในการจัดการขึ้นตรงกับหน่วยงานสาธารณสุข ทำให้นักระบาดวิทยาของรัฐ นาย Anders Tegnell เป็นผู้กำหนดมาตรการรับมือของสวีเดนโดยตรงเมื่อกล่าวถึงสวีเดนแล้ว ก็ถือว่าเป็นเคสที่น่าสนใจ เพราะนาย Anders Tegnell คนนี้เอง ที่สื่อหลักหลายประเทศทั่วโลกจับตามองถึงเหตุจูงใจ ในการออกแบบนโยบายรับมือโควิดสำหรับสวีเดน ที่ดูจะแตกต่างจากประเทศข้างเคียง นาย Anders มองว่า โควิด-19 นั้นจะไม่สามารถกำจัดได้ในเร็ววัน ดังนั้น การออกแบบนโยบายต่าง ๆ จะต้องมองระยะยาว ทำอย่างไร ให้ผู้คนและธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบน้อย ขณะเดียวกันก็ไม่สร้างภาระให้กับหน่วยงานสาธารณสุขจนเกินขีดจำกัดของบุคลากรที่มีแม้ว่าในระยะสั้น (ราวเมษายน-กรกฎาคม) เราจะเห็นยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในสวีเดนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตัวเลขก็ลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงถัดมา (สิงหาคม-ตุลาคม) โดยที่ร้านอาหาร, โรงเรียน, อาคารสำนักงาน, ระบบขนส่งสาธารณะก็ยังคงเปิดทำการตามปกติ (แต่จำกัดจำนวนคนต่อพื้นที่ หรือปรับให้เป็นลักษณะ work from home)
จากนโยบายของประเทศในยุโรปที่กล่าวไป ประเทศไทยเองก็อาจจะต้องหันมาคำนึงถึงนโยบายที่จะช่วยลดปัญหาคอขวดเรื่องการกักตัวทั้ง SQ/ASQ นี้ และคำนึงถึงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ, การว่างงาน, หนี้สินภาคครัวเรือนและธุรกิจ, การลงทุนในประเทศ ควบคู่ไปกับยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตด้วย นอกจากนี้ เรายังจะต้องคิดต่อว่าจะปรับวิถีการทำงานและการดำรงชีวิตต่อไปอย่างไร ในเมื่อวัคซีนยังคิดค้นไม่สำเร็จ และถึงสำเร็จแล้วคาดว่าจะใช้เวลาผลิตและแจกจ่ายอีกหลายเดือนหรือเป็นปีจากนี้
ดูรายละเอียดเพิ่มได้เกี่ยวกับแนวนโยบายการจำกัดการเดินทางของสหภาพยุโรปได้ที่ https://ec.europa.eu/…/common-approach-travel-measures…
ท่านสามารถไขข้อข้องใจเรื่องการกักตัว14วันในสถานกักตัวที่รัฐบาลจัดหาให้ State quarantine (SQ) ว่ามีข้อจำกัดและข้อปฏิบัติอย่างไรบ้างได้ที่ https://www.facebook.com/ATPER/posts/3673274696029807